Last updated: 28 เม.ย 2568 | 12 จำนวนผู้เข้าชม |
วัดหงสาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 51 ไร่ 48 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 15 แปลง เนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบสูง มีป่าไม้ทั่วไปโดยรอบ
ประวัติ
วัดหงสารามตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2200 ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดใหม่ เพราะย้ายมาตั้งขึ้นใหม่จากวัดเดิมชื่อว่า วัดท่ากุน ใกล้อำเภอยะหริ่งและอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดทุ่งคา เดิมวัดสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ต่อมาได้มีพระภิกษุสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตได้เข้ามาพำนักและได้เปลี่ยนสังกัดเป็นธรรมยุต ได้เปลี่ยนชื่อจากวัดใหม่มาเป็น วัดท่าข้าม ตามชื่อหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2442 เปลี่ยนเป็นวัดธรรมยุตเมื่อ พ.ศ. 2445
ต่อมาพระปลัดแดงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดหงสาราม" เพราะเนื้อที่วัดมีลักษณะเป็นรูปหงส์ขนาดใหญ่ และหมู่บ้านแถบนี้มีชื่อเกี่ยวข้องกับหงส์ เช่น บ้านตาหงส์ บ้านน่องหงส์ ที่สำคัญที่สุดหน้าวัดมีเสาหงส์ขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันชำรุดหมดแล้ว เท่าที่ปรากฏหลักฐานวัดแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเสาหงส์เกือบทุกวัด วัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเมื่อ พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2520 ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2526
อาคารเสนาสนะ
กุฏิไม้ 3 หลัง ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ในสมัยพระปลัดหนูเป็นเจ้าอาวาส เป็นเรือนแฝด และมีเรือนขวางทางด้านทิศตะวันตกอีกหลังหนึ่ง ตามริมกรอบประตูช่องลมและฝาบางส่วนมีภาพแกะสลักเป็นลายทรงเรขาคณิตลายดอกไม้และรูปสัตว์ เช่น มังกรจีน ลิง เป็นต้น ฝาผนังบางส่วนมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและชาดกฝีมือช่างพื้นเมือง
ศาลาทรงไทยซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุมากกว่า 100 ปี อุโบสถได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยไปประดิษฐานที่หน้าอุโบสถ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2520
พระปรางค์ไม่ปรากฏปีที่สร้าง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการสร้างเพื่อบรรจุอัฐิของพระปลัดหนูหรือพระปลัดสู รูปใดรูปหนึ่งหรือทั้งสองรูป ลักษณะของพระปรางค์สร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีการปั้นลวดลายกระหนกด้วยปูน ประดิษฐานอยู่หลังอุโบสถ ศาลาสถูปบรรจุอัฐิและรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส ไม่ปรากฏปีที่สร้าง โรงธรรมศาลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470 ลักษณะเป็นศาลาพื้นทำด้วยไม้ทั้งหลัง กว้าง 8.50 เมตร ยาว 13 เมตร ศาลาพักร้อน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่สันนิษฐานกันว่าอายุเกินกว่า 100 ปี สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เสาทั้งสี่แกะเป็นรูปบัวตรงหัวเสา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดิน
![]() | ![]() | ![]() |
![]() | ![]() | ![]() |